สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)
ประวัติหนองโพ
ในปี พ.ศ.2502 เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับเกษตรชั้นนำที่ ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ตามคำเรียกร้องขอให้ทางราชการไปดำเนินการผสมเทียมโคในท้องถิ่นนี้ซึ่งจากการหารือและพิจารณาแล้วกรมปศุสัตว์จึงได้ตกลงเปิดสถานีผสมเทียมขึ้นณตำบลหนองโพเป็นสถานีผสมเทียมแห่งที่3 ของประเทศโดยเริ่มทำการผสมเทียมโคเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2502
เมื่อสถานีผสมเทียมโคได้จัดตั้งขึ้นแล้วนั้นต่อมาในปี พ.ศ.2511 ทางราชการได้สนับสนุนการเลี้ยงโคนมขึ้นปรากฏว่าได้รับความนิยมจากราษฏรมากขึ้นจนมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเขตจังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐมเพิ่มมากขึ้นจึงเริ่มประสบปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบที่รีดได้จากแม่โคนม
เบื้องต้นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเหล่านี้ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปีพ.ศ.2512 เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว เมื่อความได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ ทรงได้พยายามที่จะหาทางช่วยเหลือซึ่งในช่วงนั้นพอดีกับที่พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงงานผลิตนมผงขึ้นที่ภายในบริเวณสวนจิตรลดาพระราชวังดุสิตจึงมีการหารือกันในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ควรจะมีการสร้างโรงงานผลิตนมผงขึ้นที่ตำบลหนองโพ จนกระทั้งในปี พ.ศ.2513 นายทวิชกลิ่นประทุม (สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดราชบุรีสมัยนั้น) ได้จัดซื้อที่ดินบริเวณตำบลหนองโพจำนวน 50 ไร่ทูลเกล้าฯถวายพร้อมด้วยเงินจำนวน 1,000,000 บาท เพื่อเตรียมดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิตนมผงและทูลเกล้า ฯ ถวายอีกเป็นเงิน 400,000 บาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งคณะกรรมการสร้างโรงงานขึ้นและให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ เทวกุล เป็นผู้ออกแบบ โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อการก่อสร้างเพิ่มจากเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวายอีกเป็นเงิน 1,002,000 บาท
ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตนมผง กลุ่มผู้นำเกษตรกรตำบลหนองโพและเขตใกล้เคียงได้ขอความช่วยเหลือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดราชบุรี ในขณะนั้นคือนายจรูญ วัฒนากร ให้ช่วยติดต่อหาผู้รับซื้อน้ำนมดิบจนกระทั้งได้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตกลงเป็นผู้รับซื้อ โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์รวมนมหนองโพขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมพ.ศ. 2513 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการและทุนของกลุ่มเกษตรกรเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารศูนย์รวมน้ำนม
และต่อมาเกษตรกรสมาชิกของศูนย์รวมนมหนองโพจำนวน 185 คนได้เข้าชื่อกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ในวันที่15 เมษายน พ.ศ.2514 โดยใช้ชื่อ“สหกรณ์โคนมราชบุรีจำกัด” เป็นสหกรณ์ประเภทบริการ
โรงงานผลิตนมผงสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานชื่อ“โรงนมผงหนองโพ” โดยให้บริหารงานในรูปบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า"บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัด" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือหุ้นใหญ่ของบริษัทและได้รับพระราชทานเงื่อนไขไว้ด้วยว่าบรรดาเงินกำไรสุทธิที่คณะกรรมการบริษัทหาได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีการแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ให้บริษัทนำกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสะสมเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของบุตรธิดาสมาชิกของกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ส่งน้ำนมดิบให้แก่โรงงานเป็นประจำ
ต้นปี พ.ศ.2516 ได้มีการเริ่มต้นผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ขึ้นเป็นครั้งแรกและในวันที่ 25 ธันวาคม ปีเดียวกันสหกรณ์โคนมราชบุรีจำกัดได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น “สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรีจำกัด” จัดเป็นสหกรณ์ประเภทการเกษตร
ประมาณกลางปี พ.ศ.2517 คณะกรรมการบริหารผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัดได้พิจารณาเห็นว่าการผลิตนมผงด้วยเครื่องจักรที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจต้นทุนแพงมากอีกทั้งผลิตภัณฑ์นมที่ผลิตได้ยังไม่ถูกหลักมาตรฐานสากลนักประกอบกับการเลี้ยงโคนมในเขตตำบลหนองโพและเขตใกล้เคียงได้แพร่หลายเป็นอันมากทำให้ปริมาณน้ำนมดิบเริ่มสูงขึ้นเป็นลำดับจึงควรเตรียมการแก้ปัญหาเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าคณะกรรมการบริษัทจึงมีมติให้สร้างโรงงานผลิตนมหลังใหม่ขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานนมผงเดิมโดยกู้เงินจากบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 8,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าก่อสร้างค่าจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆใหม่
ต่อมาเมื่องานของสหกรณ์ฯเจริญก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์สมาชิกของสหกรณ์ฯต่างมีความเข้าใจในหลักสหกรณ์และดำเนินกิจการของสหกรณ์ฯได้ดีถูกต้องตามหลักของสหกรณ์และมีหลัก ฐานมั่นคงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โอนทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัดพร้อมด้วยโรงงานผลิตนมผงให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรีจำกัดตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2518 เป็นต้นมาและนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับไว้ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อรวมกิจการเข้าด้วยกันแล้วสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรีจำกัดได้ย้ายสถานที่ทำการมาอยู่ในบริเวณโรงงานนมผงของบริษัทเดิม
การก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรในโรงงานผลิตนมหลังใหม่ได้ต่อเนื่องมาในระยะที่โอนกิจการดังนั้นสหกรณ์โคนมหนองโพฯจึงได้รับภาระการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรมาดำเนินการต่อหลังจากที่ได้รับโอนกิจการมาแล้วโดยในปีพ.ศ.2519 สหกรณ์โคนมหนองโพฯได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 8,000,000 บาทมาดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตนมดังกล่าวจนกระทั้งการก่อสร้างมาแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2520
อาคารโรงงานผลิตนมหลังนี้มีชื่อว่า“อาคารเดชสหกรณ์ม.ล.เดชสนิทวงศ์” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่ม.ล.เดชสนิทวงศ์ผู้เป็นประธานกรรมการบริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัดซึ่งเป็นผู้ที่อุทิศกำลังใจและกำลังกายดำเนินการอย่างดีที่สุดสมดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้วางพระทับให้เป็นผู้แทนพระองค์และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีไปทรงเปิดอาคารหลังนี้และเยี่ยมชมกิจการของสหกรณ์โคนมหนองโพฯ
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการและทุกข์สุขของสมาชิกสหกรณ์โคนมหนองโพฯอย่างต่อเนื่องกล่าวคือในปี พ.ศ.2521 ได้พระราชทานเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวายจำนวน 129,000 บาทเศษ เพื่อจัดตั้งมูลนิธิพระบารมีปกเกล้า(ในพระบรมราชูปถัมภ์) จุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรหลานสมาชิกต่อมาได้มีการดำเนินการก่อสร้างอาการพิพิธภัณฑ์โคนมหนองโพจากแนวพระราชดำริที่จะให้จัดหาสถานที่ซึ่งเป็นที่จัดเก็บรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตนมในอดีตเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมพร้อมกันนั้นได้พระราชทานเงินซึ่งมีผู้ทูลเกล้าฯถวายจำนวน 960,000บาท เพื่อใช้เป็นทุนสำหรับการก่อสร้างซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานชื่อว่า“อาคารเทพฤทธิ์เทวกุล”
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทางสหกรณ์โคนมหนองโพฯได้ทูลเกล้าฯถวายหุ้นแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำนวน 45,999 หุ้นหุ้นละ100 บาทเป็นมูลค่า 4,599,900 บาท ในปี พ.ศ.2533 และต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคมพ.ศ.2534 สำนักพระราชวังได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับดอกผลของหุ้นทูลเกล้าฯและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้ดอกผลอันเกิดจากหุ้นดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่สมาชิกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาของสมาชิก และเป็นทุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรม
ปัจจุบันสหกรณ์โคนมหนองโพฯได้ดำเนินกิจการมาเป็นเวลากว่า 43ปีแล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางสหกรณ์โคนมหนองโพฯได้ดำเนินกิจการมาตามแนวพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตลอดสหกรณ์โคนมหนองโพฯสามารถผลิตผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และผลิตภัณฑ์นมยู.เอช.ที. จำหน่ายไปได้ทั่วประเทศโดยมีกําลังผลิตเพียงพอที่จะรองรับกับปริมาณน้ำนมดิบที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเขตตำบลหนองโพและใกล้เคียงผลิตได้ทำให้เกษตรกรไม่มีปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบเมื่อประกอบกับการดำเนินงานในรูปสหกรณ์ที่ผลประโยชน์ต่างๆส่วนใหญ่จะตกอยู่กับสมาชิกแล้วนับได้ว่าสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรีจำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) คือทางออกของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้อย่างแท้จริงสมดังพระราชปรารถนาและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานแก่คณะกรรมการดำเนินงานสร้างโรงงานนมผงณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานวันศุกร์ที่ 11 กันยายนพ.ศ. 2513 มีความบางตอนว่า
“ปัญหาสำคัญที่ว่า ถ้าตั้งแล้วจะตั้งอยู่ในรูปใดในจุดประสงค์ที่ดีที่สุดที่เห็นควรจะเป็นก็คือ ให้โรงงานนี้เป็นโรงงานของผู้ผลิต เคยได้พูดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติหลายปีแล้วว่า วิธีที่จะให้ผู้ผลิตนมโคสามารถจำหน่ายนมได้ก็มีทางเดียวคือ ตั้งโรงงานแล้วให้โรงงานนี้เป็นของผู้ผลิต มิใช่ว่าบริษัทฝรั่งหรือญี่ปุ่นมาลงทุนสร้างโรงงานแปรสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าต่อไปนั้น ความคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่เรารับไม่ได้เพราะว่าเกิดเรื่องอยู่เสมอที่จะต้องมีการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ผลิต คือ ผู้ที่ผลิตนมโคกับผู้ที่แปรสภาพมาเป็นนมกระป๋อง เป็นนมผง เนยแข็ง เนยสดหรือเนยอะไรก็ตาม คือ ถ้าตั้งเป็นบริษัทแปรสภาพนี้และขายนมสดให้ จะต้องเกิดปัญหาเพราะว่าทำกันเอง แต่การทำกันเองนี้มีความลำบากอยู่ที่จะต้องมีวินัยมาก ต้องมีความเสียสละเพื่อส่วนรวมของกิจการอย่างสำคัญถ้าตั้งในรูปโรงงานสหกรณ์ได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าสร้างในรูปโรงงานสหกรณ์ไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม ก็เห็นควรล้มเลิกกิจการเพราะว่าจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เคยได้ไปเยี่ยมกิจการโรงงานทำนมกระป๋องในประเทศเนเธอร์แลนด์ผู้ที่ผลิตนมหรือวัตถุดิบนำมาที่โรงงาน มีการทดสอบว่าคุณภาพเป็นอย่างไรและจดชื่อไว้ เสร็จแล้วเขามาทำนมกระป๋องจำหน่าย และได้ค่าตอบแทนตามส่วนเป็นสหกรณ์ก็จริง แต่เขาก็พูดได้ว่า ถ้านมที่ได้มาตรวจสภาพแล้วว่าเป็นนมที่ไม่ถึงขีดคุณภาพนั้น เขาเททิ้งเลย ข้อนี้เป็นข้อที่น่าใจหายแล้วก็รู้สึกว่าน่าหนักใจที่สุด เป็นตัวอย่างวินัยที่เขาต้องมี แต่ว่าก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตนมในคุณภาพที่เหมาะสมที่ไม่ใช่ทำไปเพื่อเพียงแต่ผลิตออกมาแล้วขายได้ และที่เป็นข้อสำคัญที่สุดไม่ใช่การกุศล กิจการที่เราทำอยู่นี้เป็นการกุศลอยู่ที่ข้อว่า เงินทุนที่ได้มาหรือความริเริ่มที่ได้มามิได้มาจากผู้ผลิตแท้ๆ หากมาจากผู้อื่นที่สนใจ ผู้อื่นที่สนใจนั้นมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้ผู้ผลิตสามารถยืนตัว และสามารถที่จะมีรายได้ดีจนกระทั่งเป็นเจ้าของโรงงานได้อันนี้เป็นจุดประสงค์ของผู้ที่ปรารถนาดี เงินทุนที่ได้มาหรือความคิดที่ให้ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นจิตกุศลนี้ก็ปรารถนาดีต่อผู้ผลิตและในเวลาเดียวกันก็ปรารถนาดีต่อส่วนรวมของประเทศชาติเพราะรู้ว่าถ้าผู้ที่ผลิตสามารถและขายร่ำรวยได้ จะทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพทางการค้าในทางดุลการค้า ลงท้ายก็ทำให้บ้านเมืองเจริญได้ เพราะมีผู้ที่มีรายได้ดีและผู้ที่มีฐานะมั่นคงอยู่ในประเทศไทย อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลว่า ทำไมมีผู้ที่จะเห็นกิจการนี้รุ่งเรืองและสำเร็จเรียบร้อย”
https://goo.gl/maps/q69NSwSRepnxYsPp8